ไฟฉุกเฉิน รู้ไว้ ใช้ได้ถูกต้อง
แน่นอนว่าคนใช้รถใช้ถนนทุกคนต้องคุ้นเคยกับปุ่มสีแดงที่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมอยู่ตรงกลางแน่นอน นั่นก็คือ ปุ่มสัญญาณไฟฉุกเฉิน นั่นเองครับ แต่รู้ไหมว่า ปุ่มสัญญาณไฟฉุกเฉินมีหน้าที่เฉพาะตัวของมัน และควรใช้ในสถานการณ์ที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้แบบไม่น่าเชื่อ ว่าแล้วเราก็ตามมาดูกันดีกว่าครับว่าสัญญาณไฟฉุกเฉิน จะใช้ให้ถูกต้องได้อย่างไร
✖ ผิด: เปิดไฟฉุกเฉินเพื่อสื่อสารกับคันข้างหลัง
มาเริ่มกันที่การใช้งานไฟฉุกเฉินแบบแรกเลยครับ ซึ่งจัดเป็นเรื่องที่ไม่ได้ข้อบังคับชัดเจน แต่กลายเป็นว่าผู้ใช้ท้องถนนในไทยดันเข้าใจแบบเดียวกันเสียอย่างนั้น นั่นคือการเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อสื่อสารว่า “ขอไปก่อน” เพื่อให้รถคันอื่นๆ ชะลอความเร็วหรือหลีกทางให้เรา แต่สิ่งนี้เป็นอันตรายตรงที่ว่าในต่างประเทศ สัญญาณไฟฉุกเฉินดันมีความหมายสื่อในทางตรงกันข้ามว่า “เชิญคันอื่นไปก่อน” เป็นการให้ทาง ดังนั้นก็มักจะเป็นปัญหาเวลาชาวต่างประเทศขับรถในบ้านเรา เมื่อเห็นคนเปิดไฟก็ขับพุ่งพรวดออกไปเพราะคิดว่าเขาให้ทาง เลยไปชนกันเข้าพอดี เจ็บตัวกันยาวๆ ต้องระวังให้ดีนะครับ!
✖ ผิด: เปิดไฟฉุกเฉินเพื่อข้ามสี่แยก
อีกอันตรายหนึ่งของการใช้ไฟฉุกเฉินแบบผิดๆ ก็คือการเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อข้ามสี่แยกนั่นเอง ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีอะไร แต่การใช้ไฟฉุกเฉินจะทำให้ไฟเลี้ยวไม่ทำงาน ทำให้รถคันที่ตามมา คันข้างๆ หรือคันที่สวนมาไม่ทราบว่าเรากำลังจะไปตรง จะเลี้ยว หรือกำลังจะเปลี่ยนเลนกันแน่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุชนกันกลางสี่แยกได้ง่ายมากๆ จัดเป็นการให้สัญญาณที่ผิดและไม่เป็นสากลเลยครับ
✖ ผิด: เปิดไฟฉุกเฉินเมื่อฝนตกหนัก
เวลาฝนตกหนัก เพื่อหลีกเลี่ยงทัศนวิสัยที่ไม่ดีรถหลายคันจึงเลือกที่จะเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินไว้ให้รถคันอื่นเห็น แต่ที่จริงเป็นการใช้งานไฟที่ผิดครับ เพราะรถทางซ้ายและขวาจะเห็นไฟกระพริบเพียงมุมใดมุมหนึ่ง จึงนึกว่าคันที่เปิดไฟกำลังจะเลี้ยว ทำให้ไม่ได้ชะลอความเร็วลง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้อีกเหมือนกัน แนะนำว่าตอนที่ฝนตกหนักให้ใช้ความเร็วต่ำและเปิดไฟหน้า ไม่เปลี่ยนเลนพร่ำเพรื่อและไม่ขับชิดคันหน้าจนเกินไป แค่นี้ก็ปลอดภัยได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฉุกเฉินแล้วคร้าบ
✔ ถูก: ใช้ไฟฉุกเฉินตอนจอดรถอยู่
มาถึงคำถามที่ว่า เราจะใช้ไฟฉุกเฉินอย่างถูกต้องยังไง? แน่นอนครับว่า ขึ้นชื่อว่าสัญญาณไฟฉุกเฉิน ก็ต้องใช้ “ในยามฉุกเฉิน” เท่านั้น โดยตาม พรบ.จราจร มาตรา 9 และกฎกระทรวงข้อที่ 11 กำหนดให้ใช้ไฟฉุกเฉินเฉพาะกรณีรถเสียที่จอดอยู่กับที่ เพราะถือว่ารถไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้จากเหตุขัดข้อง การเปิดไฟฉุกเฉินก็เป็นการสื่อความหมายสากลให้รถคันอื่นได้รับรู้ว่า “รถเกิดปัญหา” นั่นเอง~
ง่ายมากเลยใช่ไหมล่ะครับ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ ใช้ไฟฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องนะ และเพื่อความอุ่นใจ อย่าลืมทำประกันรถไว้ เกิดเหตุให้ต้องใช้ไฟฉุกเฉินเสียหายยังไงก็มีประกันดูแลได้ชัวร์! หากมีคำถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อพวกเราได้ทาง
Live Chat ผ่านหน้าเว็บไซต์ หรือติดต่อ
Call Center 1737 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลยครับผม
ขอบคุณข้อมูลจาก