30/11/66

|

อ่านแล้ว 799 ครั้ง

วางแผนลดหย่อนภาษี และเงื่อนไขที่ต้องรู้

     เข้าสู่ช่วงสิ้นปี 2566 อีกครั้ง หลาย ๆ คนเริ่มจะวางแผนการยื่นภาษีของปี 2566 กันแล้ว และหลายคนก็กำลังวางแผนการใช้จ่ายจากเงินโบนัสไม่มากก็น้อย บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษี ทั้งวิธีลดหย่อนภาษี กฎเกณฑ์ข้อกำหนดการลดหย่อนภาษี รวมถึงการวางแผนเสียภาษีหลังจากได้รับเงินโบนัส จะมีอะไรที่เราต้องรู้เพื่อวางแผนบ้าง ไปดูกันเลย

การวางแผนลดหย่อนภาษีดีอย่างไร

     การลดหย่อนภาษี คือจะทำให้เราได้เงินคืนจากทั้งการลงทุนในกองทุนรวม การซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ ในโครงการของรัฐ ยิ่งผู้ที่มีรายได้มาก ภาษีที่ต้องจ่ายก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น รัฐบาลก็จะมีการลดหย่อนภาษีแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน หรือกระตุ้นให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมหรือกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่าง เพื่อแลกกับการนำค่าใช้จ่ายตรงนั้นไปยื่นลดหย่อนภาษีได้ - สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการลดหย่อนภาษีได้ที่ เข้าใจเรื่องลดหย่อนภาษีด้วยวิธีง่ายๆ

ยื่นลดหย่อนภาษีได้กี่วิธี

     สำหรับวิธีลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา มีอยู่ 4 วิธีด้วยกัน มาเช็คกันว่ารายจ่ายของคุณจะเข้าข่ายการลดหย่อนแบบใดได้บ้าง - สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นภาษีออนไลน์ได้ที่ ยื่นภาษีออนไลน์ 2565 มีขั้นตอนอย่างไร

ยื่นลดหย่อนภาษีได้กี่วิธี

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท ลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ (ได้สูงสุด 1 คน)
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท (ทั้งนี้การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะนับว่าเป็นครรภ์เดียว) หากทั้งสามีและภรรยายื่นภาษีทั้งคู่ จะให้สิทธิลดหย่อนนี้แก่ภรรยาเท่านั้น โดยสามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว และต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ( กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย: ลดหย่อนภาษีบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง , กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: ลดหย่อนภาษีบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน , กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิของบุตรบุญธรรมได้)
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ ลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีซ้ำระหว่างพี่น้องได้
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ 
  • ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพลภาพเป็นบิดามารดา บุตร หรือคู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน ตัวอย่าง คู่สมรสไม่มีรายได้และเป็นผู้พิการ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท และค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000 บาท)

2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

2.1 ลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกัน

  • เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  • เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท - สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของประกันสุขภาพที่ใช้ยื่นภาษีได้ที่ ประกันแบบไหน ใช้ลดหย่อนภาษีได้
  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนภาษีประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ

2.2 ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน

  • กองทุนประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกิน 9,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้รวมทั้งปีตามจริง ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท 
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามจริง ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับคนที่จ่ายเินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ
  • เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท

     *สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท

4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท (ไม่ต้องใช้เอกสาร สำหรับสัญญากู้ยืมเงินที่เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป)
  • การซื้อสินค้า หรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมถึงสินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ รวมถึง E-Book ในช่วงเวลาโครงการของรัฐ สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 40,000 บาท  (โดย 30,000 บาทแรกเป็นค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ และอีก 10,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น)

เงินโบนัส กับการวางแผนภาษี 

     อย่าลืมว่าเมื่อได้รายได้หรือรายรับเพิ่ม อัตราภาษีก็จะเพิ่มตาม หากจำนวนเงินที่ได้รับนั้น มีผลทำให้ฐานอัตราภาษีของเราสูงขึ้น การนำโบนัสที่ได้รับมารวมคำนวณกับรายได้อื่น ๆ เพื่อประเมินค่าภาษี จะทำให้เราสามารถประมาณการค่าภาษีที่จะต้องจ่ายในปีนั้น จึงทำให้เราตัดสินใจวางแผนภาษีได้อย่างรอบคอบขึ้น

     ดังนั้น หากจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มจากรายรับที่ได้มา TQM แนะนำให้วางแผนการเงินโดยคำนึงถึงการวางแผนภาษีควบคู่กันด้วย เช่น จากเดิมที่ลงทุนในกองทุนรวมแบบทั่วไป ก็อาจเปลี่ยนเป็นการลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายแบบเดิม แต่ให้สิทธิลดหย่อนภาษี หรือจากเดิมที่ซื้อประกันสุขภาพ ก็อาจเพิ่มการซื้อประกันชีวิตควบคู่ด้วย แต่ทั้งนี้ หมวดหมู่ประกันต่าง ๆ สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาท 

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

     รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) และจะต้องเตรียมเอกสารดังนี้

  • หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
  • รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี

สถานที่สำหรับการยื่นภาษี

  • ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
  • ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านระบบ E-Filing ของกรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/rd-cms - สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ได้ที่ ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์
  • ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยต้องทำการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน จึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้

กรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ และมีบัตรประจำตัวคนพิการว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
  • กรณีเป็นผู้สูงอายุ และมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
  • กรณีมีเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น สามารถใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล

เริ่มยื่นภาษีได้เมื่อไหร่

1.ยื่นด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร

  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม เพื่อเสียภาษี ลดหย่อนภาษี หรือขอคืนภาษีที่เสียไปแล้ว 

2.ยื่นภาษีทางออนไลน์

  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 8 เมษายน (หากตรงกับวันหยุดจะมีการเลื่อนวันสิ้นสุดออกไป ซึ่งจะต้องเช็กข้อมูลอีกครั้งในแต่ละรอบการยื่นภาษี)


การเตรียมตัวขอลดหย่อนภาษี 2567

1. ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

     นอกจากจะคุ้มครองความเสี่ยงแล้ว เบี้ยประกันชีวิตยังช่วยลดหย่อนภาษีรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิตแบบบำนาญอีกสูงสุด 200,000 บาท

2. ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

     ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF หรือสมทบทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทที่ทำงานอยู่ นอกจากจะเป็นเงินเก็บที่มีโอกาสได้กำไรแล้ว ยังใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)

3. ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม

     กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะมาแทนกองทุน LTF โดยกองทุน SSF ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)

4. ซื้อบ้านและคอนโด

     ดอกเบี้ยในการผ่อนบ้าน-คอนโดที่เสียทั้งปี สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดถึง 100,000 บาท

     การยื่นภาษีปี 2566 มีขั้นตอนการยื่นภาษีและข้อกำหนดที่ต้องเรียนรู้มากมาย หากต้องการได้ประโยชน์จากภาษีมากที่สุด ควรศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน เพื่อจะได้วางแผนการลดหย่อนภาษีในปี 2566 นั่นเอง

(ที่มาจาก Finnomena, DDproperty)

 

เช็คราคาแผนประกัน

กรอกข้อมูลเพื่อค้นหาแผนประกัน
สุขภาพ
มะเร็ง
ลดหย่อนภาษี

ชื่อ *

นามสกุล *

เพศ *

วัน/เดือน/ปีเกิด *

เบอร์โทรศัพท์มือถือ *

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง