ทำงานมาหลายปี...รู้ตัวอีกทีก็ป่วยโทรม ทั้งๆ ที่ทำงานอยู่ในห้องแอร์ทั้งวัน แถมเป็นงานเอกสารทั้งนั้น แต่ทำไมถึงได้เมื่อยขบไปทั้งสรรพางค์เหมือนทำงานเยี่ยงกรรมกร?
คำตอบไม่ใช่อื่นใด...หากคุณมีอาการปวดเมื่อย เมื่อยหลัง เมื่อยคอ บ่า ไหล่ หรือแม้กระทั่งปวดศีรษะอยู่บ่อยครั้ง นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนขั้นแรกของอาการ “ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome) ที่มนุษย์เงินเดือนและผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หลายคนต้องเผชิญ!
โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกลักษณะเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การเดิน หรือการเคลื่อนไหวต่างๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง บิด เกิดอาการปวดเมื่อยตามมา หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการปวดเมื่อยธรรมดาดังกล่าว ก็สามารถกลายเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง ที่สร้างความเจ็บปวดทรมานให้แก่ร่างกายได้ หรือบางรายอาจเกิดปัญหาร้ายแรง เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือกระดูกทับเส้นประสาท
Quick Check! :
สำรวจอย่างเร็วๆ คุณเข้าข่ายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมหรือไม่?
1. รู้สึกปวดตึงที่บ่า ไหล่ เหมือนมีของหนักมาทับไว้ขณะนั่งทำงาน
2. หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นแต่ยังนั่งทนทำงานต่อไป อาการปวดจะลุกลามไปที่ท้ายทอย และเกิดการปวดศีรษะตามมา
3. มีอาการชาบริเวณท่อนแขน (เพราะใช้เมาส์และคีย์บอร์ดเป็นเวลานานโดยไม่มีหมอนรองข้อมือ)
4. รู้สึกปวดเมื่อยร่างกายส่วนล่าง (เพราะนั่งนานเกินไป จนน้ำหนักร่างกายกดทับร่างกายส่วนล่าง)
5. นิ้วล็อก (เพราะใช้คีย์บอร์ดนานเกินไป)
หากคุณมีอาการข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น คุณเข้าข่ายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมแล้ว!
ตกใจแล้วอย่าปล่อยเลยตามเลย เพราะวิธีการรักษาโรคจะได้ผลดีก็ต้องรีบรักษาตั้งแต่อาการยังไม่มาก!
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเป็น...รู้ตัวว่ากำลังเป็น...หรือยังไม่เป็นแต่ไม่อยากเป็น แนะนำให้ทำดังนี้
DOs:
1. ตั้งตำแหน่งคอมพิวเตอร์ให้ตรง อย่าเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเอี้ยวตัวขณะทำงาน
2. นั่งหลังตรง หลังพิงพนัก ไม่นั่งหลังคร่อมหรือเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันหมอนรองกระดูกเคลื่อน
3. จัดจอภาพคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าระดับสายตา 15 องศา เพื่อช่วยลดอาการปวดตา
4. พักสายตาอย่างน้อยทุกๆ 20 นาที โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการตาพร่าหรือล้า
5. กะพริบตาบ่อยๆ ป้องกันตาแห้ง
6. เลือกโต๊ะทำงานที่มีระดับความสูงพอดีกับข้อศอก
7. ควรมีหมอนรองมือสำหรับเมาส์และคีย์บอร์ดเพื่อลดอาการปวดเมื่อยข้อมือ
8. ลุกเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง อย่านั่งแช่หน้าจออย่างเดียว
9. ทำกายบริหารระหว่างพัก เช่น บริหารสายตา บริหารข้อมือ การยืดเหยียดแขน ขา ต้นคอ ฯลฯ
10. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น
ส่วนสำหรับใครที่รู้ตัวว่าอาการหนักแล้ว แนะนำว่าให้ไปพบแพทย์โดยด่วน โดยการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมจะใช้ 2 วิธีหลักๆ คือแบบรักษาที่สาเหตุ (มีทั้งแบบผ่าตัดหรือไม่ต้องผ่าตัด) และวิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ (เช่น การกินยา หรือฉีดยา) ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการสิ้นเปลืองทั้งกำลังใจ กำลังกาย เวลา และทุนทรัพย์ทั้งสิ้น
ดังนั้น ถ้าใครไม่อยากเสียอะไรเลย แถมยังได้สุขภาพดีๆ กลับมาเป็นของแถม แนะนำว่าให้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นได้เลยครับ
ขอให้ทุกท่านสุขภาพดี.
เรียบเรียงข้อมูลจากบทความ “ออฟฟิศซินโดรม โรคร้ายของคนทำงาน”
เขียนโดย พ.ต.ท.สุรศักดิ์ จิระพรชัย ตำแหน่ง นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ
คลิกดูข่าวสารของ TQM ประกันมนุษย์เงินเดือน