ทุกๆ วันที่ขับรถบนถนน การใช้สัญญาณไฟเพื่อสื่อสารกับรถคันอื่นๆ อย่างถูกต้องและเหมาะสม ช่วยลดอุบัติเหตุได้ แต่ปัญหาคือผู้ขับขี่หลายคนอาจเข้าใจสัญญาณไฟที่ใช้ไม่ตรงกัน หรือลักไก่ไม่ยอมใช้ในบางโอกาส เช่น ไม่ยอมเปิดไฟขอทาง เพราะกลัวว่ารถคันอื่นจะเร่งแทนที่จะชะลอเพื่อให้ทาง เรื่องแบบนี้...นานาจิตตังครับ แต่ทางที่ดีเพื่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมถนน มาใช้สัญญาณไฟให้ถูกต้องดีกว่า ส่วนจะใช้อย่างไร คำตอบอยู่บรรทัดถัดไปครับ
ไฟฉุกเฉิน
-
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้ใช้ไฟฉุกเฉิน (บ้างก็เรียก ไฟผ่าหมาก) เฉพาะกรณีรถเสียจอดหยุดนิ่งเท่านั้น กรณีนี้รวมถึงจอดเพื่อซ่อมรถกลางถนน
-
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติอนุโลมให้ใช้โดยทั่วไป 2 กรณี
-
ขณะจอดรถในบริเวณที่อาจมีรถสัญจรผ่านเพื่อส่งสัญญาณให้รถคันอื่นรู้
-
การเบรคกรณีฉุกเฉิน เช่น รถคันหน้าเบรคกะทันหัน เพื่อความปลอดภัยควรเปิดไฟฉุกเฉินส่งสัญญาให้รถคันหลังที่ตามมาชะลอความเร็ว
ไฟตัดหมอก
-
ไม่ใช่อุปกรณ์แต่งรถ ไม่ควรเปิดพร่ำเพรื่อ แต่ควรเปิดในกรณีมีอากาศขมุกขมัว ฝนตกหนัก
-
เนื่องจากไฟตัดหมอกส่วนใหญ่เป็นหลอดสปอตไลท์ที่ให้ความสว่างสูง ส่องสว่างได้ไกล หากเปิดในช่วงเวลาปกติ แสงอาจแยงตาผู้ที่ขับรถสวนมาจนตาพร่าได้
-
การเปิดไฟตัดหมอกผิดสถานการณ์ยังผิดกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ที่ระบุว่า การใช้ไฟตัดหมอกสามารถใช้ได้ต่อเมื่อรถวิ่งอยู่ในสภาวะที่มีหมอก ควัน หรือฝุ่นละอองจนเป็นอุปสรรค อันอาจเกิดอันตรายในขณะขับรถและต้องไม่มีรถอยู่ด้านหน้าหรือ สวนมาในระยะของแสงไฟ หรือในระยะ 150 เมตร
ไฟเลี้ยวซ้าย-ขวา
-
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ระบุให้เปิดไฟเลี้ยวก่อนถึงทางเลี้ยว 30 เมตรเป็นอย่างน้อย
-
ขณะเปลี่ยนเลน ควรเปิดไฟเลี้ยวขอทางก่อน เพื่อให้รถคันหลังชะลอ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเลน กรณีที่รถที่วิ่งมาไม่ยอม ให้ใจเย็นๆ แล้วท่องว่า ต้องมีสักคัน...ต้องมีสักคัน
ไฟหน้า (กระพริบ)
-
ไฟกระพริบ บ้างก็เรียก ต๊อบไฟ เป็นการแว๊บไฟสูง 2 ที เพื่อส่งสัญญาณว่า ไม่ให้ไป
-
แต่ความหมายนี้รู้กันเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เพราะการใช้ไฟกระพริบในความหมายสากลมีชื่อว่า ไฟพาส (pass) หมายถึง ให้ไป
จะเห็นว่าสัญญาณไฟมีหลักๆ 4 ประเภท และไม่ยากเกินความเข้าใจ ส่วนที่เหลือคือภาคปฏิบัติที่ผู้ขับขี่แต่ละคนจะต้องลองทำดูครับ
ประกันภัยรถยนต์เพื่อความอุ่นใจสำหรับมือใหม่ หัดขับอ่านบทความของ ทีคิวเอ็ม เกี่ยวกับ มือใหม่อยากขับ ทั้งหมด